เมนู

4. ปารสูตร



ธรรมเป็นเครื่องให้ถึงฝั่ง (นิพพาน)


[97] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม 8 ประการนี้
ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพี่อถึงฝั่ง (นิพพาน) จาก
ที่มิใช่ฝั่ง (วัฏฏะ) ธรรม 8 ประการเป็นไฉน คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ
ความตั้งใจชอบ ธรรม 8 ประการนี้แล ที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อถึงฝั่งจากที่มิใช่ฝั่ง.
พระผู้มีพระภาคเจ้าสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว จึง
ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
[98] ในพวกมนุษย์ ชนที่ถึงฝั่งมีจำนวน
น้อย แต่หมู่สัตว์นอกนี้ ย่อมวิ่งไปตามฝั่ง
นั่นเอง ส่วนชนเหล่าใดประพฤติตามใน
ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ชน
เหล่านั้นข้ามบ่วงมฤตยูซึ่งแสนยากที่จะ
ข้ามไปถึงฝั่งได้ บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำ
เสีย เจริญธรรมฝ่ายขาว ออกจากความ
อาลัย อาศัยธรรมอันไม่มีความอาลัยแล้ว
พึงละกามเสีย เป็นผู้ไม่มีกิเลสเป็นเครื่อง
กังวลปรารถนาความยินดีในวิเวก ที่สัตว์
ยินดีได้ยาก บัณฑิตพึงยังตนให้ผ่องแผ้ว
จากเครื่องเศร้าหมองจิต ชนเหล่าใด

อบรมจิตดีแล้วโดยชอบในองค์เป็นเหตุให้
ตรัสรู้ ไม่ถือมั่นยินดีแล้วในความสละคืน
ความถือมั่น ชนเหล่านั้นเป็นผู้สิ้นอาสวะ
มีความรุ่งเรือง ปรินิพพานแล้วในโลกนี้.
จบปารสูตรที่ 4

5. ปฐมสามัญญสูตร



ว่าด้วยสามัญญะและสามัญญผล


[99] สาวัตถีนิทาน. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสามัญญะ
(ความเป็นสมณะ) และสามัญญผล (ผลแห่งความเป็นสมณะ) แก่เธอทั้ง
หลาย เธอทั้งหลายจงฟังเรื่องนั้น.
[100] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญะเป็นไฉน อริยมรรคอัน
ประกอบด้วยองค์ 8 นี้แล คือ ความเห็นชอบ ฯลฯ ความตั้งใจชอบ นี้เรียก
ว่าสามัญญะ.
[101] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สามัญญผลเป็นไฉน คือ โสดาปัตติผล
สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล นี้เรียกว่าสามัญญผล.
จบปฐมสามัญญสูตรที่ 5